Col 03-18 The perfect storm ไปทางไหนดี ในวันที่สับสนวุ่นวาย
หลายครั้งมีคำถามว่า ไปเรียนแล้ว เอามาใช้ประโยชน์อะไร ผมเจอหลายคนที่ชอบไปเรียน หลายหลักสูตร เจอวิทยากรที่มีชื่อเสียง คำถามที่มักเกิดขึ้นคือ...........
บรรดา สิ่งที่สอนนั้นมัน เป็นอดีต คือผ่านมาแล้ว จะเอามาแก้ไขปัญหาในปัจจุบันนี้ได้อย่างไร ผมไม่ค่อยห่วงหาอนาคต เพราะผมอยู่ในประเทศที่มีความสามารถในการทำลายอนาคตได้อย่างยิ่งยวด ย่อยยับ และยาวนาน
สถานการณ์ทุกอย่างทั้งต่างประเทศ ในประเทศ ครอบคลุมทุกด้านไม่ว่าจะเป็นการเมืองระหว่างประเทศ ในประเทศ ที่จ่อเล็งกันว่าจะเกิดการขยายตัวเป็นสงครามไหมทั้งไกลบ้าน อยู่ดีๆก็ยิงใส่กัน แล้วก็บอกว่า หยุดละ แล้วประกาศว่าอยากได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ขยับมาใกล้บ้านเราก็ไม่น้อยหน้า ทะเลาะกันเรื่องเดิมๆ ร่ำๆว่าจะถล่มกัน เศรษฐกิจที่วุ่นวายมาตั้งแต่ต้นปี ตลาดทุนที่ในหนึ่งอาทิตย์ มีการเปลี่ยนแปลงเขียว เหลือง แดง ครบแบบไม่ทันตั้งตัว จนมาถึงเรื่องในครอบครัว ลุงที่หลานรักมากเอาอะไรก็ยอม อยู่ๆก็มาแฉ clip มาให้ดูห้องภาพนอน Theme สีชมพู ส่งผลทำให้ยอดผ้าปูที่นอนสีอื่นๆขายดี มันเกี่ยวกันตรงไหนเนี่ย หัวจะปวด หากใครดูข่าวก็พบว่า ไม่มีอะไรจะยึดถือได้ให้เป็นที่พึ่งทางใจได้เลย ไม่ว่าราชการทุจริตกันจนตึกถล่ม พระเอาเงินบริจาคไปเล่นพนันเป็นร้อยล้าน ตอนนี้แค่รออะไรจะเป็นตัวจุดชนวนให้ลุกลาม ส่วนจะยุติปัญหา กันอย่างไร ยังไม่มีทีท่าว่า จะหาเจอได้ในเร็ววัน
สภาวะในปัจจุบัน น่าจะเข้าได้กับสิ่งที่เรียกว่า Perfect Strom คือจัดได้ว่า มากันครบ มากันเต็มเหนี่ยว จัดหนัก ต่อเนื่อง ทำลายล้างสูง หายนะครบทุกเรื่อง ซึ่งลักษณะที่สำคัญของ perfect storm คือ คาดเดาไม่ได้และมีผลกระทบมหาศาล, มีความท้าทายต่อเนื่องไม่จบง่ายๆและหลากหลายมิติ หลายด้าน และ ปัญหาที่แก้ไขยาก (Intractable problems) เพราะผูก และพันกันไปหลายเรื่อง ที่สำคัญ คือ ย้อนไปข้อ คาดเดาไม่ได้ ก็หมายถึงกำลังจะแก้ก็เปลี่ยนกันใหม่อีกรอบ วนเวียนกันไป เห็นได้จากปัญหาของผู้นำระดับชาติหลายคนในปัจจุบัน ที่มีเรื่องไม่ซ้ำกันแต่ละวัน
ผมได้พูดคุยกับเพื่อนๆหลายคนที่ได้เจอ และที่มาเรียนหนังสือกัน คุยไปคุยมาเหมือนปรับทุกข์กันมากกว่า บ่นถึงปัญหา มองไม่เห็นทางออก เพราะมันมืดมากกว่าแปดด้าน เอาเข้าจริงมืดมิดรอบตัวเลยหละ บางคนพอเห็นข่าวคลิ๊ปเสียง ถึงกับเอ่ยว่า ไม่มีแรงทำอะไรแล้ว แย่แน่ๆ เดี๋ยวน่าจะลงถนนกันอีก แล้วงานนี้น่าจะลงกันยาว ช่วยหนุนสร้างความสมบูรณ์แบบให้กับพายุโหมกระหน่ำ หากไม่เอาปฏิวัติ ไม่เอาเลือกตั้ง แล้วจะเอาอะไรมาแก้ปัญหาที่ยุ่งเหยิงนี้ดี
สำหรับผมคิดว่า หากจะแก้ปัญหาระดับ Perfect storm ให้ได้ คนนั้นต้องมีความรอบรู้ รูปแบบครบถ้วนหมดทุกด้าน มองเห็นทุกสิ่งเชื่อมโยงกัน และจัดเรียงลำดับการแก้อย่างมีชั้นเชิง คนนี้มีไหมในโลกนี้
มี(มั้ง)ครับผมไปค้นเจอ กษัตรย์โซโลมอน เป็นใครอย่างไร ลองไปหาอ่านกันเองนะครับ (โซโลมอน: กษัตริย์ผู้มากเมีย มากเงิน มากปัญญา และมากปีศาจ) ที่ไปอ้างอิงถึงนี่จะเชื่อหรือไม่ก็แล้วแต่ แต่มีประเด็นที่น่าสนใจคือ ในเรื่องที่บันทึกไว้ในไบเบิล พระองค์มีโอกาส “ขอพร” กับพระเจ้า (God) ที่บอกว่าน่าสนใจคือ
“คำขอเฉพาะของโซโลมอนคือ "จิตใจที่เข้าใจเพื่อปกครองประชากรของพระองค์ สามารถแยกแยะระหว่างความดีและความชั่วได้ เพราะใครจะปกครองประชากรจำนวนมากของพระองค์ได้เล่า"
นี่เป็นการทูลขอปัญญาในทางปฏิบัติและการบริหารจัดการ ความปรารถนาของพระองค์ที่จะ
"แยกแยะความดีและความชั่ว"
น่าสนใจครับ ทำไมเมื่อมีโอกาสที่ยิ่งใหญ่ กลับเลือกที่จะขอ “จิตใจที่เข้าใจ”
หากโอกาสมาถึงแล้ว หากเป็นท่านจะขอออะไรเมื่อใกล้วันที่ 1 ของเดือนแล้ว
พักเรื่องนี้สักครู่ หลังจากที่ผมหมดที่พึ่งทางจิตใจ ที่พระเอาเงินทำบุญวัดไปเล่นพนัน ผมก็หาสิ่งปลอบประโลมใจใหม่ เลยไปอ่านเจอ ปรัชญาสโตอิก ไปเจอคำโปรยมาก็ ไปไหนไม่รอดละ
“ปรัชญา Stoicism ซึ่งมีมานานกว่า 2,000 ปี นำเสนอแนวทางที่ทรงพลังสำหรับผู้นำในการรับมือกับความซับซ้อนของสถานการณ์ แก่นแท้ของปรัชญานี้คือการพัฒนาคุณลักษณะที่หล่อหลอมด้วยคุณธรรมแห่งปัญญา ความพอประมาณ ความกล้าหาญ และความยุติธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเราอย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าสถานการณ์ภายนอกจะเป็นอย่างไร ผู้นำที่ยึดหลัก Stoicism จะเรียนรู้ที่จะมุ่งเน้นไปที่สิ่งที่ควบคุมได้ นั่นคือความคิด การกระทำ และการตอบสนองของตนเอง ในขณะที่ปล่อยวางปัจจัยภายนอก แนวคิดนี้ช่วยให้ผู้นำสามารถรักษาความชัดเจนและความสงบในสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้”
ชีวิตผมพอจะมีความหวังและทางออกบ้างหละ
หลักที่น่าสนใจของ Stoic คือ มุ่งเน้นไปในสิ่งที่ควบคุมได้ และปล่อยวางปัจจัยภายนอก
ใช่เพราะในสภาวะวุ่นวายของ Perfect Storm เราควบคุมปัจจัยภายนอกได้น้อยมาก หรือ แทบไม่ได้เลย เช่นบอกว่ามีคลิ๊ปฉาว จะแฉ ก็ไม่แฉสักทีรอฟังตั้งนาน ใช่เราคุมปัจจัยภายนอกไม่ได้เลย แม้ว่า จะขึ้นภาษีระหว่างประเทศจนสูงแล้วก็รอให้ประเทศที่โดนหนักสุดโทรมาอ้อนวอน แต่แล้วก็ไม่โทรมา เฮ้อยากจริง ซึ่งความจริงก็เป็นเช่นนั้น เราควบคุมอะไรไม่ได้เลยที่เป็นเรื่องนอกตัวเรา ยิ่งช่วงโปรโมชั่น มี Perfect storm ยิ่งหมดสิทธิ์
ปรัชญาสโตอิก เน้นให้มองหาสิ่งที่ควบคุมได้ นั่นคือ ความคิด การกระทำ ของตนเอง ควบคุมไปทำไม ก่อนตอบคำถาม อยากชวนมาทำความรู้จักปรัชญานี้กันสักหน่อย
ปรัชญา Stoicism มีหลักคำสอนหลักของเอพิคเตตัส (Epictetus) คือการแยกแยะระหว่างสิ่งที่ "ขึ้นอยู่กับเรา" (ความคิดเห็น แรงกระตุ้น ความปรารถนา ความไม่ชอบ และการกระทำของเรา) และสิ่งที่ไม่ "ขึ้นอยู่กับเรา" (ร่างกาย ทรัพย์สิน ชื่อเสียง เหตุการณ์ภายนอก พฤติกรรมของผู้อื่น และผลลัพธ์) แก่นแท้ที่สำคัญคือ "คุณธรรม 4 ประการ" (The Four Virtues) ซึ่งเป็นเสาหลักในการดำเนินชีวิตอย่างมีปัญญา มีความสุข และมีจุดมุ่งหมาย คุณธรรมเหล่านี้ไม่ใช่แนวคิดนามธรรม แต่เป็นการฝึกฝนที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้นำที่ต้องเผชิญกับความท้าทายที่ไม่คาดฝัน
1. ปัญญา (Wisdom) ปัญญาในมุมมองของ Stoicism คือความรู้ที่แท้จริงว่าอะไรคือสิ่งที่ดี ชั่ว หรือเป็นกลาง ไม่ใช่แค่ความรู้เชิงทฤษฎี แต่เป็นความสามารถในการตัดสินใจอย่างมีเหตุผลและรอบคอบ เอปิคเทตัส (Epictetus) นักปรัชญา Stoic ได้กล่าวไว้ว่า "ภารกิจหลักในชีวิตคือการระบุและแยกแยะสิ่งต่างๆ เพื่อให้สามารถบอกตัวเองได้อย่างชัดเจนว่าสิ่งใดเป็นปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ และสิ่งใดเกี่ยวข้องกับการเลือกที่เราควบคุมได้จริง" ปัญญาจึงเป็นเรื่องของการรู้ว่าอะไรอยู่ในอำนาจควบคุมของเรา และมุ่งเน้นพลังงานไปที่นั่น
2. ความกล้าหาญ (Courage) ความกล้าหาญในปรัชญา Stoic ไม่ใช่แค่ความกล้าหาญในสนามรบ แต่เป็นความกล้าหาญในชีวิตประจำวันที่ต้องเผชิญหน้ากับความกลัว ความทุกข์ยาก และอุปสรรคอย่างตรงไปตรงมา เอปิคเทตัสแนะนำให้ "อดทนและต่อต้าน" (persist and resist) ความกล้าหาญคือการอดทนผ่านความยากลำบากของชีวิตและต่อต้านการล่อลวงให้ยอมแพ้หรือเบี่ยงเบนไปจากค่านิยม มันไม่ใช่การไม่มีความกลัว แต่เป็นการรู้สึกกลัวแล้วยังคงทำสิ่งที่ถูกต้องต่อไป นักปรัชญา Stoic เข้าใจว่าความกลัวไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นวิธีที่เราตอบสนองต่อมัน เป้าหมายไม่ใช่การกำจัดความกลัว แต่เป็น “การฝึกฝนตัวเอง” ให้ลงมือทำแม้จะมีความกลัว
3. ความยุติธรรม (Justice) ความยุติธรรมในปรัชญา Stoic คือการยึดมั่นในความถูกต้องและการให้ความยุติธรรมในเรื่องต่างๆ รวมถึงการเคารพสิทธิของผู้อื่น เป็นคุณธรรมที่เกี่ยวข้องกับการปฏิสัมพันธ์ของเรากับโลกและผู้อื่น โดยเน้นการกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม นักปรัชญา Stoic เชื่อว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตทางสังคม และการเจริญเติบโตจะเกิดขึ้นได้เมื่อเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม สร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่ง และทำงานเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น
4. ความพอประมาณ/วินัยในตนเอง (Temperance/Self-Discipline) ความพอประมาณ หรือวินัยในตนเอง (Temperance/Self-Discipline) คือคุณธรรมที่ทรงพลังที่สุดของปรัชญา Stoic มันคือการควบคุมตนเอง การทนต่อสิ่งเร้าและปัจจัยภายนอก และการใช้ชีวิตอย่างมีวินัย แนวคิด "Discipline is Destiny" (วินัยคือโชคชะตาที่เราเลือกได้) สะท้อนถึงความเชื่อที่ว่าการมีวินัยในตนเองนำไปสู่การควบคุมชีวิตของเรา พ่อของเอปิคเทตัสเคยบอกเขาว่า ให้เปลี่ยนความพยายามที่จะเอาชนะโลก มาพยายามเอาชนะ "อาณาจักรที่อยู่ระหว่างหูของเรา" (Empire that is between the ears) แทน วินัยในตนเอง (Temperance) คือรากฐานของความแข็งแกร่งภายใน เพราะการควบคุมตนเองเป็นสิ่งที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเราโดยสมบูรณ์ ทำให้เราสามารถจัดการกับสิ่งเร้าภายนอกและอารมณ์ภายในได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หลักทั้ง 4 ข้อนี้ เราควรฝึกฝนการควบคุมตนเองแม้ภายใต้ความเครียดและความกดดัน การทบทวนตัวเองในแต่ละวันเพื่อระบุจุดอ่อนและปรับปรุง การจำกัดตัวเลือกในชีวิตและเลือกทำเฉพาะสิ่งที่สำคัญ การควบคุมปฏิกิริยาต่อสิ่งรบกวนที่อยู่นอกเหนือการควบคุม และการเริ่มต้นใหม่ในแต่ละวัน โดยไม่ปล่อยให้ความผิดพลาดในอดีตมาฉุดรั้ง การฝึกฝนวินัยในตนเองอย่างสม่ำเสมอจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางจิตใจและความยืดหยุ่น
หลายพันปีที่ผ่านมา ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ ไม่ว่า จะกษัตรย์โซลามอน ที่ขอพรจากพระเจ้า "จิตใจที่เข้าใจเพื่อปกครองประชากรของพระองค์ สามารถแยกแยะระหว่างความดีและความชั่วได้” หรือ มาร์คัส ออเรลิอุส (Marcus Aurelius) ผู้ซึ่งเป็นทั้งจักรพรรดิโรมัน และนักปรัชญา Stoic ผู้เป็นตัวอย่างของ "ราชาปราชญ์" (Philosopher King) ได้แสดงให้เห็นถึงการนำหลักการนี้มาใช้ในการปกครองในช่วงเวลาที่วุ่นวายที่สุดของประวัติศาสตร์โรมัน ซึ่งเต็มไปด้วยสงคราม โรคระบาด และความขัดแย้ง ทั้งสองตัวอย่างผู้นำ เลือกที่จะ ส่งเสริมการควบคุมตนเอง ยึดคุณธรรมเป็นหลัก และการใช้เหตุผล ในการนำทางผ่านพายุแห่งยุคสมัย
ผมตามอ่านเรื่องของสองท่านนี้อย่างเมามัน และหวังว่าผมจะสามารถมี “ จิตใจที่เข้าใจ” หรือเรียกให้กิ๊บเก๋ว่า “Wisdom” แต่ด้วยสติปัญญาอันตื้นเขินของผม ไม่ว่าจะเรียนหนังสือ ฟัง อ่าน ก็ยังไม่รู้สึกว่า ตนเองมีความสามารถที่จะมี “จิตใจที่เข้าใจ” หรือ Wisdom ได้ ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา อจ. ผม Prof. Manfred ส่งบทความที่เหมือนกับรู้ว่า ผมอยากอ่านอยู่พอดี แต่เห็นหัวเรื่องแล้วเจ็บจี๊ด
“ Why wisdom cannot be taught”
ครับ สอนกันไม่ได้ ต้องทำเอง
ผมมองว่า เมื่อเกิด Perfect Storm เป็นโอกาสสำคัญ ที่เราจะหยุดทบทวน ตั้งหลัก ตั้งสติ ลดการตื่นตระหนก ลดการใช้การคิดเร็วตอบโต้เร็ว (Think fast) มาตั้งหลักค่อยๆคิดว่า หลักการ คุณธรรม ของเราคืออะไร เรามองเห็นปัจจัยอะไรบ้างที่เราควบคุมได้ อะไรที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เลือกทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนหมู่มาก และละวางการทำเพื่อประโยชน์ของตนเอง
ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว
เป็นโอกาสดีที่จะใช้วิกฤติเพื่อเปลี่ยนแปลงคนเอง
ให้เดินทางไปในทิศเป็นตัวเราที่ดีกว่าเดิม
"The obstacle is the way." - Marcus Aurelius, Roman Emperor ~170CE
ก้อง